"WELCOME TO SWEET DREAM BLOGER"

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Tarutao National Marine Park


มารู้จักกับ  "อุทยานแห่งชาติตะรุเตา"

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 50 เกาะ แบ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆได้ 2 หมู่เกาะคือหมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี เป็นพื้นที่อุทยานที่มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ทั้งจากบนเกาะที่เป็นป่าดิบเขียวขจี อ่าวที่มีหาดทรายขาวสวย เมื่อมองจากจุดชมวิวจะเห็นภูมิทัศน์ที่งดงามยิ่ง ภายใต้ผืนน้ำมีแนวปะการังทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกเต็มไปด้วยฝูงปลานานาชนิดสีสันสวยงาม เป็นสังคมใต้ทะเลที่สร้างความตื่นตาให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก เมื่อปี พ.ศ.2525 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน 
( ASEAN Heritage Parks and Reserves )

       อุทยานแห่งชาติตะรุเตา มีที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะน่าสนใจมากมายกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เช่นเกาะตะรุเตาซึ่งเป็นเกาะประวัติศาสตร์และยังมีอ่าวที่มีหาดทรายสวยงามเรียงรายเกือบรอบเกาะ เกาะไข่ที่มีซุ้มประตูหินธรรมชาติทอดโค้งจากผืนทรายจรดน้ำ เกาะหลีเป๊ะที่มีสมญาว่า มัลดีฟเมืองไทย เกาะราวีที่มีหาดทรายขาว น้ำใส ปะการังสวย เกาะอาดัง มีหาดทรายขาวละเอียดมีแนวปะการังอยู่รอบเกาะ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้นและมีจุดชมทิวทัศน์ผาชะโดที่เห็นความงามของท้องทะเลและเกาะใกล้เคียง ตัวอย่างที่ยกมานี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นตะรุเตายังมีที่สวยงามอีกมากให้ได้ชื่นชมอย่างเต็มอิ่มคุ้มค่ากับการเดินทาง 

การเดินทาง   ไปยังอุทยานแห่งชาติตะรุเตา


ท่าเรือปากบาราเดินทางไปเกาะตะรุเตา เรือออกจากท่าเรือปากบารา เวลา 10.30 น. และ 13.00 น.
เกาะตะรุเตาเดินทางไปเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ เรือออกจากเกาะตะรุเตา เวลา 11.30 น.
เกาะอาดัง-หลีเป๊ะเดินทางไปเกาะตะรุเตา เรือออกจากเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ เวลา 10.00 น.
เกาะตะรุเตาเดินทางไปท่าเรือปากบารา เรือออกจากเกาะตะรุเตา เวลา 09.00 น. และ 11.00 น.
ท่าเรือตำมะลังเดินทางไปเกาะตะรุเตา เรือออกจากท่าเรือตำมะลัง เวลา 09.30 น.
เกาะตะรุเตาเดินทางไปเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ เรือออกจากเกาะตะรุเตา เวลา 11.00 น.
เกาะอาดัง-หลีเป๊ะเดินทางไปเกาะตะรุเตา เรืออกจากเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ เวลา 14.00 น.
เกาะตะรุเตาเดินทางไปท่าเรือตำมะลัง เรือออกจากเกาะตะรุเตา เวลา 15.00 น.

 ** หมายเหตุ : ระหว่างท่าเรือตะโละวาวกับท่าเรือพันเตมะละกามีรถรับ-ส่งของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ให้บริการรับ-ส่ง    ระยะทางประมาณ 12.5กิโลเมตร
กิจกรรมที่น่าสนใจ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ลงเรือท่องอันดามันเที่ยวชมเกาะแก่งในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาดำน้ำชมปะการังทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกชมทิวทัศน์ที่สวยงามจากจุดชมวิวสัมผัสน้ำทะเลใสๆ หาดทรายสวยๆตามเกาะต่างๆแค็มป์ปิ้ง พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ
ทางเรือ
  • เส้นทางท่าเรือปากบาราไปเกาะตะรุเตา(ขึ้นเกาะบริเวณท่าเรือพันเตมะละกาซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ) หรือไปเกาะอาดัง-หลีเป๊ะมีตารางการเดินเรือ ดังนี้
  • เส้นทางท่าเรือตำมะลังไปเกาะตะรุเตา (ขึ้นเกาะบริเวณท่าเรือตะโละวาวซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์รอุทยานแห่งชาติ ที่ ตต.1 )หรือไปเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ มีตารางการเดินเรือ ดังนี้
สิ่งน่าสนใจอื่นๆ  ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ตำนานทะเลใต้ ตะรุเตา...


         ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก ตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะ และในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ รวมทั้งพื้นที่บนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร
          พุทธศักราช 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง
จากสงครามสงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484-2488) เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องใช้ต่างๆ ต้นปี พ.ศ.2487 ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมา ในที่สุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2489 และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์ จึงได้ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอให้จัดที่ดินบริเวณเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสภาบริหารคณะปฏิวัติได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515 ชอบในหลักการ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2516 นายเต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ป่าไม้ นายไพโรจน์ สุวรรณากร หัวหน้ากองอุทยานแห่งชาติ และคณะ จึงได้เดินทางไปสำรวจเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี และหมู่เกาะใกล้เคียง ปรากฏว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ เหมาะแก่การจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2516 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2516 ให้ดำเนินการจัดตั้งเกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 960/2516 ลงวันที่ 11 กันยายน 2516 ให้ นายบุญเรือง สายศร นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายปรีชา รัตนาภรณ์ นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปดำเนินการจัดตั้งเกาะดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ได้ดำเนินการขอถอนสภาพจากการเป็นเขตหวงห้ามเพื่อการราชทัณฑ์ในบริเวณที่ดินดังกล่าว จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่นๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล รวมเนื้อที่ประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 68 ลงวันที่ 19 เมษายน 2517 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ของประเทศไทย
          อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จึงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ.2525 อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็น มรดกแห่งอาเชียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)
ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี
ค่าใช้จ่าย สำหรับการมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

บ้านพัก ราคา 400 - 1200 บาท   
ค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยาน

คนไทย  เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท

ต่างชาติ เด็ก 200 บาท ผู้ใหญ่ 400 - 1200บาท
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ต.ปากน้ำ  อ. ละงู  จ. สตูล   91110
โทรศัพท์ 0-7478-3485, 0-7472-8027-8, 0-7472-9002-3 โทรสาร 0-7478-3597   
E-mail : tarutaosatun.go@hotmail.com